ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ภาษา
ประวัติโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (Education Sandbox) ได้ริเริ่มมาจากโครงการพัฒนาการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area -Based Education - ABE) โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างกลไกการจัดการศึกษาในพื้นที่ระดับจังหวัดผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้ตราพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 รองรับการดำเนินงานโครงการนวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่ 8 จังหวัด โดยมีเป้าหมายให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นหนึ่งในกลไกและกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่สามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ โดยสามารถมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ไม่ต้องอิงกับมาตรฐานและกฎระเบียบที่ไม่จำเป็นหรือไม่เอื้อจากส่วนกลาง มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อการคิดค้นและพัฒนานวัดกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน รวมทั้งเพื่อดำเนินการให้มีการขยายผลไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น 2) เพื่อการลดความเหลือมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเด็กไทยทั้งประเทศ 3) เพื่อการกระจายอำนาณและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหาร และการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 4) เพื่อสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่ามกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยนอกจากนี้ยังได้กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติ

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2563 และต่อเนื่องมาถึงปี 2564 เป็นเวลาเกือบสองปี ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาทั่วโลก ทั้งในด้านคุณภาพการศึกษาที่เกิดความสูญเสียของการเรียนรู้ (Learning Loss จากการที่เด็กไม่สามารถมาโรงเรียนได้ตามปกติและข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์หรือการเรียนทางไกลที่เข้ามาชดเขย นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดยังส่งผลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ทวีความรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนที่ขาดแคลนอุปกรณ์และโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับช่องทางการเรียนรู้ใหมในช่วงปิดโรงเรียน ยิ่งไปกว่านั้น ยังสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจการสูญเสียรายได้ และการว่างงานตั้งแต่ในระดับรากหญ้าไปจนถึงภาคการผลิตและบริการหลักของประเทศ
จากสถานการณ์การระบาดดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าภาคการศึกษาต้องการทั้งนวัตกรรมการเรียนการสอนและนวัตกรรมเชิงระบบในการบริหารจัดการการศึกษาเพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนของประเทศ จึงส่งผลให้ในปี 2565 มีจังหวัดซึ่งเสนอตัวเข้าร่วมเป็นจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มขึ้นอีก 11 พื้นที่ (แม่ฮ่องสอน สุโขทัย กระบี่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และกรุงเทพมหานคร) และเพิ่มเติมอีก 1 จังหวัดที่ผ่านการอนุมัติจากกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี 2566 คือ บุรีรัมย์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานและภาคประชาสังคมระดับพื้นที่มีความตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาของพื้นที่/จังหวัด เพื่อให้การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจสังคมได้อย่างต่อเนื่อง

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้สนับสนุนทุนตามกรอบการวิจัยการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม และร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปและพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 นี้ หน่วย บพท. เปิดรับข้อเสนอชุดโครงการวิจัยใหม่ในพื้นที่เป้าหมายตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในทั้ง 19 จังหวัด ตลอดจนพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่สนใจและมีความพร้อมตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาความพร้อมจังหวัด จำนวน และคุณสมบัติของคณะผู้เสนอ หลักกณฑ์ และวิธีการเสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2564 เพื่อเพิ่มโอกาสและความเป็นไปได้ที่แนวคิดของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะก่อประโยชน์และสร้างผลกระทบที่สูงขึ้นทั้งในการตอบสนองความต้องการของประชาชนในจังหวัดต่างๆ และต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศโดยรวมต่อไป