ม.อ.ปัตตานี ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เปิดชั้นเรียนอิสลามศึกษา ครั้งที่ 1 OPEN CLASS “อิสลามศึกษากับการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดขั้นสูงของผู้เรียน” หนุนเสริมแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรบุคคลครอบคลุมทุกมิติ
.
วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานการศึกษาเอกชน สมาคมเครือข่ายโรงเรียนคุณภาพอัสสลาม สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี เเละ Thailand Lesson Study incorporated Open Approach จัดกิจกรรมการสัมมนาเปิดชั้นเรียนอิสลามศึกษา ครั้งที่ 1 OPEN CLASS หัวข้อ: อิสลามศึกษากับการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดขั้นสูงขอผู้เรียน
.
กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานด้านชั้นเรียนอิสลามศึกษาตลอดระยะเวลา 3ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการศรัทธา กระบวนการคิด การปฏิสัมพันธ์ คุณภาพชีวิต และ การช่วยเหลือสังคม ด้วยการนำหลักการเรียนการสอนด้านอิสลามศึกษามาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตามเป้าหมายของการจัดการศึกษาของประเทศชาติ ทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ สังคมความรู้ การผสมผสานทางวัฒนธรรม และโลกที่ เข้าถึงกันง่ายยิ่งขึ้น กระบวนการเรียนการสอนจึงจําเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนและครูก็ถือเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยมี ดร.สุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นวิทยากร บรรยาย หัวข้อ การพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงสำหรับผู้เรียนอิสลามศึกษา รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษาและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากร บรรยาย หัวข้อ นิเวศการพัฒนาครูตามหลักคิด TLSOA และ รศ.ดร.มูฮัมหมัดอาฟีฟี อัซซอลีฮีย์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี ให้การต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นครูสอนศาสนาอิสลาม นักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ และผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 200 คน
.
จากนั้น เป็นการสาธิตการเรียนการสอนการเปิดชั้นเรียนอิสลามศึกษานักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม รายวิชา ศาสนบัญญัติ (ฟิกฮฺ) โดยครูฮาริส นาแว ครูอิสลามศึกษาโรงเรียนสาธิตวิทยาการอิสลาม ในหัวข้อ “ฉันช่วยโลก…อัลเลาะห์ช่วยฉัน” โดยการแบ่งกลุ่มนักเรียนอออกเป็น 5 กลุ่ม และแจกใบงานให้ร่วมแสดงความคิดเห็นระดมความคิดนำเสนอหน้าชั้นเรียน จากนั้นให้ผู้ทรงคุณวุฒิที่สังเกตุการสาธิตการเรียนการสอนสะท้อนผลการเปิดชั้นเรียน โดย ศาสตราจารย์ ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิได้สะท้อนกิจกรรมการสาธิตการเรียนการสอนครั้งนี้ว่า การเรียนการสอนแบบอิสลามนั้น ต้องมี 2 ส่วนควบคู่กันไป ทั้งเรื่องหลักความจริง และหลักการทางอิสลาม จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้ และครูผู้สอนต้องมีกรอบความคิดที่ชัดเจน โดยเน้นสอนหลักอิสามเป็นหลักแล้วเชื่อมโยงกับเนื้อหาทั่วไปเป็นรอง ต้องมีการสะท้อนทั้งสองฝ่ายทั้งครูผู้สอนและนักเรียนได้แลกเปลี่ยนถามตอบกันเพื่อเกิดบรรยากาศการเรียนรู้ร่วมกัน มีความสนุกสนานมีสีสันมากขึ้น สิ่งสำคัญได้เน้นย้ำว่า ไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบได้ในมนุษย์เรายังคงต้องเรียนรู้ต่อไป เพราะความสมบูรณ์แบบนั้น มีในองค์อัลเลาะห์ผู้เดียวเท่านั้น
.
ส่วนกิจกรรมภาคบ่ายเป็นการเปิดชั้นเรียนวิชาอิสลามศึกษาใน 3 รายวิชา ได้แก่ วิชาฟิกฮฺ วิชาหลักศรัทธา เเละวิชาอัคลาค (จริยศาสตร์) และปิดกิจกรรมด้วยการสรุปสะท้อนผลการสัมมนาในครั้งนี้