เมื่อ 150 ปีที่แล้ว การศึกษาอเมริกันเข้าไปมีบทบาทเพิ่มขึ้นในญี่ปุ่น ด้วยรูปแบบและคุณภาพที่แตกต่างจากการศึกษาที่จัดโดยญี่ปุ่นเอง จนทำให้ญี่ปุ่นต้องปฏิรูปการศึกษาของประเทศ ภาพนั้นในวันนี้สำหรับการศึกษาไทยดูเหมือนจะชัดมากขึ้น ณ ตอนนี้ผู้ปกครองมุ่งส่งลูกเรียน รร. นานาชาติมากกว่าการเรียนใน รร.เอกชน ซึ่งจุดสนใจคือภาษาอังกฤษที่ได้จาก รร.นานาชาติ ซึ่งถ้ามองโจทย์นี้ ผมว่าเราจะเริ่มเข้าสู่วิกฤติความมั่นคงของชาติเลย เพราะ รร.นานาชาติจะไม่ให้ความสำคัญกับภาษาไทยเลย จะเกิดอะไรขึ้นหากเด็กไทยพูดไทยไม่ได้
คำถามสำคัญคือ รร.เอกชนพัฒนาให้นักเรียนสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษได้หรือเปล่า ซึ่งคำตอบชัดๆ คือ ทำได้และทำได้ดีด้วย ที่สำคัญคือยังลงทุนกับเรื่องนี้เพิ่มได้อีก ซึ่งความท้าทายจึงเป็นเรื่องค่านิยมของผู้ปกครอง ในขณะที่ รร.เอกชนยังมีพลังพร้อมที่จะยกระดับคุณภาพในเรื่องนี้ แต่เมื่อวิ่งลู่เดียวกับ รร.นานาชาติ ผมว่าก็เหนื่อยเหมือนกันครับ
ดังนั้นในเรื่องค่านิยม ความต้องการการศึกษาที่เปลี่ยนไปนี้ มองที่จุดเดียวแล้วเดินตามจะกลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น คิดแบบง่ายๆ ครับ ถ้าเริ่มจากการทำให้เหมือนก่อน (ซึ่งแน่นอนต้นทุนและศักยภาพกลุ่มเป้าหมายต่างกัน) กว่าจะสร้างการรับรู้ได้ กว่าจะไล่เขาทัน เขาก็จะเดินไปอีกก้าวหนึ่งแล้ว ดังนั้นในเวลานี้กุญแจสำคัญคือการวิเคราะห์กลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงครับ อันนี้ผมก็เลียนแบบญี่ปุ่นครับ เมื่อเขาจะสู้กับค่านิยมใหม่ เขาไม่ได้ทำให้เหมือนนะครับ เขาวิเคราะห์จุดแข็งของตนเองและคู่แข็ง จากการวางกลยุทธ์ใหม่ของการศึกษาญี่ปุ่นใหม่ แนวทางนี้ถึงแม้จะทำงานหนักเหมือนกับการวิ่งเลียนแบบคนอื่น แต่มีโอกาสชนะหรือเป็นผู้นำได้มากกว่าการเดินทางเขาแบบร้อยเปอร์เซนต์ครับ อย่างหลังนี้ต้องรอเขาเพลี้ยงพล้ำเท่านั้นเอง
เป็นความจำเป็นที่ รร. จะต้องติดตามความเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา ตลอดไปจนถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของตนเอง และจะต้องให้ความสำคัญกับการวางกลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้มีความชัดเจนมากขึ้น และรร.จะต้องทำตัวเองให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ที่จะต้องสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในทุกระดับตั้งแต่หลักสูตร การสอน การบริหาร พูดได้ว่าทำซ้ำทำเหมือนเดิมเกิน 3 ปี อาจจะล้าสมัย ไม่ทันต่อความต้องการใหม่ของผู้ปกครองของนักเรียนแล้วก็เป็นได้
ที่คุยเรื่องนี้ก็อยากกระทุ้งภาครัฐด้วยครับ ขนาดเอกชนยังเข้าสู่ภาวะเสี่ยงแล้ว ถ้ารัฐยังไม่วางทิศทางการศึกษาที่ชัดเจน ทำกันแบบวนในอ่างแบบปัจจุบันอีก การศึกษาภาครัฐอาจจะสร้างการรับรู้ว่าเป็นการศึกษาสงเคราะห์มากกว่าเป็นการศึกษาภาคพื้นฐาน
Q Coaching Team