ปรับขนาดตัวอักษร
โหมดการเข้าถึงสำหรับผู้พิการ
ภาษา

หลักสูตรอิสลามศึกษาฐานสมรรถนะ ของ MAI สิงคโปร์

16 สิงหาคม 2567

เมื่อกล่าวถึงการบูรณาการอิสลามแล้วโดยส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการความรู้ศาสนาอิสลามเข้าไปในการเรียนการสอนวิชาสามัญ แต่โรงเรียน MAI ของประเทศสิงคโปร์มีแนวความคิดการบูรณาการในทางกลับกันคือการสอนอิสลามศึกษาแต่บูรณาการสาระสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ข้อดีที่สำคัญคือทำให้การเรียนวิชาศาสนามีความน่สนใจและเห็นหลักการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการเรียนอิสลามศึกษาที่เน้นตัวบทโดยนักเรียนไม่สามารถนำหลักการไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ นอกจากนี้บูรณาการรายวิชาสามัญเข้าไปในการเรียนการสอนอิสลามศึกษายังช่วยลดจำนวนรายวิชาที่ซ้ำซ้อนระหว่างวิชาสามัญและวิชาศาสนา โดยทั่วไปหลักการอิสลามจากอัลกุรอานและแบบอย่างศาสนทูตนั้นครอบคลุมเนื้อหาสาระทุกด้าน อัลกุรอานไม่ได้กล่าวถึงเฉพาะหลักศรัทธาหรือสถานภาพของของพระเจ้าเท่านั้น แต่ยังกล่าวถึงวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม ครอบครัว การค้าขาย การปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล รวมไปถึงการเมืองและสงคราม

แนวทางการบูรณาการของ MAI จึงดำเนินการโดยการวิเคราะห์กรอบด้านผลลัพธ์ (Outcome) ของผู้เรียนที่จำเป็นสำหรับนักเรียนในประเทศสิงคโปร์ การวิเคราะห์ประเด็นปัญหาหรือสถานการณ์จริงที่นักเรียนต้องเผชิญ โดยแบ่งผลลัพธ์ที่คาดหวังของนักเรียนออกเป็น 4 ด้าน (ตารางที่ 4.6) คือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับอัลลอฮและศาสนทูตของพระองค์ 2) มุสลิมกับการจัดการตนเองและครอบคครัว  3) ความสัมพันธ์ระหว่างมุสลิมกับเพื่อนและเพื่อนบ้าน 4) ความสัมพันธ์มุสลิมกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และเมื่อวิเคราะห์กรอบข้างต้นแล้วจึงได้จัดรายวิชา สาระการเรียนรู้ รวมถึงกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่สอดคล้องกับเป้าหมาย โดยแบ่งระดับความรู้ไปตามช่วงชั้นของนักเรียน ผู้วิจัยเมื่อได้เห็นการกำหนดสาระกับกรอบเป้าหมาย (Mapping) ที่ทางโรงเรียน MAI ได้จัดทำและกำหนดให้เป็นรายวิชาอิสลามศึกษาแล้วรับรู้ได้ว่าแต่ละหัวข้อมีความน่าสนใจและสอดคล้องกับสภาพปัญหาของสังคมในปัจจุบันที่มุสลิมต้องเผชิญ และเมื่อมองย้อนกลับมาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็มองเห็นปัญหาตามที่โรงเรียนในสิงคโปร์ได้จัดการเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนในทุกด้าน ในขณะที่การเรียนการสอนอิสลามศึกษาในประเทศไทยยังคงเน้นไปที่ตัวบท สาระเนื้อหาก็ใช้มานานหลายปีที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันไม่ครอบคลุมทั้งหมด ที่สำคัญคือการสอนอิสลามศึกษาที่เน้นประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งน้อยมากที่มีการเรียนการสอนในสาระอิสลามศึกษาในประเทศไทย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการของการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาคือการนำรายวิชาวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมาสอนในรายวิชาอิสลามศึกษา เช่น การอนุรักษ์ (อากาศ น้ำ และพื้นดิน) การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ - พลังงาน (ไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ) - ขยะ (โลหะ กระดาษ พลาสติก) การพัฒนาที่ยั่งยืน (ทรัพยากรดิน/การใช้ทรัพยากร) การพัฒนาที่ยั่งยืน (คนและความยากจน) เป็นต้น ตัวอย่างรายวิชาข้างต้นถือเป็นประเด็นทางสังคมและนานาชาติที่ให้ความสำคัญและพูดคุยการอย่างกว้างขวางและด้วยกับเป็นหลักคำสอนในศาสนาจึงเป็นหน้าที่ของครูอิสลามศึกษาที่จะต้องให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้แก่นักเรียนในรายวิชาอิสลามศึกษา “อิสลามครอบคลุมทุกด้านของการดำเนินชีวิต การดูแลสังคม รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เป็นหนึ่งในหลักการอิสลามที่ชัดเจนในการส่งเสริมมุสลิมให้ปฏิบัติ ดังนั้นยิ่งเป็นหน้าที่ของครูอิสลามศึกษาที่ต้องเน้นย้ำให้แก่นักเรียนในการปฏิบัติตามคำสั่งใช้ของศาสนาในประเด็นต่าง ๆ นี้” (Teacher of Madrasah al-Arabiyah al-Islamiyah Singapore, 2018)