เก็บข้อมูลโรงเรียนเอกชนหลักสูตรบูรณาการอิสลามครั้งที่ 2 ครั้งสุดท้าย ณ โรงเรียน SMPS Islam Terpadu Ummul Qura (UQ), เมือง Bogor ซึ่งห่างจาก Jakarta ประมาณ 3 ชม. โดยรถยนต์
UQ เป็นโรงเรียนหลักสูตรสามัญบูรณาการอิสลาม ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงให้เป็นโรงเรียนเกรด A ซึ่งกระทรวงศึกษาที่อินโดนีเซียแบ่งคุณภาพ รร. ออกเป็น A B C ผอ. โรงเรียนตอบว่าหลักสูตรของโรงเรียนบูรณาการอิสลาม 100% ในทุกรายวิชา
เมื่อถาม ผอ. รร. ว่านิยามของการบูรณาการอิสลามคืออะไรที่ รร. เขัาใจ คำตอบคือ "การไม่แยกระหว่างวิชาที่เป็น Naqli (ความรู้จากกุรอานและซุนนะฮ) และ Aqli (ความรู้จากความคิด สติปัญญา ข้อค้นพบของมนุษย์) แต่เป้าหมายของการบูรณาการไม่ได้จบที่การทำหลักสูตร จุดสูงสุดคือการสร้างผู้เรียนที่สามารถมองภาพการดำเนินชีวิต การปฎิบัติ และการประยุกต์โดยการมองอิสลามที่ Shumul (ครอบคลุม) ทั้งตัวบทและบริบท การมีความคิด หรือ Mindset ที่ไม่ได้แยกระหว่างอิสลามกับสามัญแต่มองทั้งสอบเป็นเรื่องเดียวกัน"
อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างหลักสูตรบูรณาการอิสลามกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จว. ชดต.
ในบ้านเราหลายคนอาจเข้าใจว่า รร. เอกชนสอนศาสนาส่วนใหญ่ใช้หลักสูตรบูรณาการ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ในบ้านเราใช้หลักสูตรคู่ขนาน (Parrallel Curriculum) ซึ่งแยกเป็นวิชาสามัญและศาสนา แต่หลักสูตรบูรณาการคือการสอดแทรก เทียบเคียง ขยายความความรู้ Naqli เข้าไปในวิชาสามัญเลย หรือ การเข้าใจตังแต่แรกเลยว่าวิชาสามัญเหล่านั้น เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ เป็นต้น เป็นศาสนาเช่นเดียวกัน เท่าที่ทราบตอนนี้ในพื้นที่ภาคใต้ มีโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาคาร กับโรงเรียนสาธิตอิสลาม ที่มีการปฏิบัติในลักษณะสามัญบูรณาการอิสลาม ในเปอร์เซนต์ที่มากกว่าร้อยละ 30 (คาดการณ์โดยผู้เขียนเอง) ถ้าจะเปรียบเทียบกับ UQ ที่บูรณาการ 100%
ถามว่าเหตุใดถึงต้องหลักสูตรบูรณาการ
เนื่องจากการศึกษาอิสลามคือการสร้างตัวตนของมุสลิมที่ต้องตอบเจตนารมณ์การศรัทธาต่ออัลลอฮไปพร้อมกับการทำหน้าที่ในฐานะผู้สร้างสรรค์สังคม ปรัชญาการศึกษาอิสลามจึงเน้นการเรียนรู้ทั้งสองด้าน ด้วยกับปรัชญาดังกล่าวผู้จัดการศึกษาจึงทำหลักสูตรให้นักเรียนได้เรียนรายวิชาทั้งสามัญและศาสนา จึงทำให้รายวิชามีมากกกว่าที่ควรจะเป็นหรือเหมาะสมกับพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็ก การบูรณาการอิสลามจะช่วยลดรายวิชาให้น้อยลงโดยผู้เรียนสามารถเข้าใจศาสนาไปในรายวิชาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อื่นๆไปพร้อมกัน
ถาม UQ ว่าเพียงพอหรือไม่ที่เด็กจะได้เรียนรู้อิสลามกับการเรียนแบบบูรณาการ คำตอบที่ได้คือเพียงพอแล้วสำหรับนักเรียนที่จะสร้างให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ แพทย์ ทนายความ วิศวกร และสาขาวิชาชีพอื่นๆ อีกทั้งยังมองเห็นว่าเด็กนักเรียนมีการแสดงตนของการเป็นมุสลิมที่ดี มีความเป็นผู้นำ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขได้ดีกว่าหรือไม่แตกต่างจากเด็กที่เรียนศาสนามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
ถาม UQ ว่ามีเด็กนักเรียนใน รร. ที่ไปเรียนต่อศาสนาในต่างประเทศหรือไม่ คำตอบคือมี แล้วเรียนเป็นอย่างไร คำตอบคือสามารถแข่งขันกับนักเรียนที่จบจาก รร. ที่เน้นศาสนาได้ อะไรคือตัวแปรสำคัญ คำตอบที่ได้คือ การวางพื้นฐานอัลกุรอานและภาษาอาหรับให้เข้มแข็งสำหรับ นร. แต่ รร. ตอบว่ามีจำนวนน้อยเพราะ รร. เน้นสร้างผู้เรียนที่จะทำงานสายสามัญเป็นหลัก
ครงสร้างหลักสูตรสามัญบูรณาการของ UQ ว่าเป็นอย่างไร จากภาพคือโครงสร้างหลักสูตรและจำนวนคาบต่อสัปดาห์ที่โรงเรียนพัฒนามาจากหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงฯ ครั้งแรกที่ผมเห็นเมื่อเทียบกับโครงสร้างหลักสูตรของไทยเห็นของ UQ แล้วสบายตาเข้าใจง่ายและไม่ดูแน่นเกินความจำเป็น ขออธิบายประเด็นสำคัญคร่าวๆ ดังนี้
1. Kelompok (กลุ่ม) A กับ B คือมาตรฐานรายวิชาที่กระทรวงกำหนด เป็นมาตฐานทั่วประเทศ แต่ รร. สามารถปรับเปลี่ยนบางส่วนเพิ่มเติมได้ ส่วน kelompok C คือรายวิชาเพิ่มเติมที่โรงรียนสามารถเพิ่มเติมได้เพื่อสร้างอัตลักษณ์
2. Kelompok A ข้อ 1 คือรายวิชาศาสนาที่กระทรวงบังคับ คือวิชา อิสลามศึกษาและจริยธรรม นักเรียนจะเรียนเพียงสัปดาห์ละ 3 คาบ และเมื่อรวมกับ kelompok B ข้อ 5 วิชาอัลกุรอานและท่องจำ 4 คาบ โดยรวม นร. จะเรียนวิชาศาสนา จำนวน 7 คาบต่อสัปดาห์ ไม่นับภาษาอาหรับซึ่งนับอยู่ในหมวดภาษาต่างประเทศ ในขณะที่ รร. เอกชนสอนศาสนาอิสลามใน สาม จว. จะเรียนวิชาศาสนาประมาณ 15-22 คาบต่อสัปดาห์
3. ถามโรงเรียนว่าพอหรือไม่กับการเรียนศาสนา 7 คาบต่อสัปดาห์ รร. ตอบว่าไม่พอ จึงได้เพิ่มกิจกรรมเสริมหลักสูตร kelompok C ข้อ 1 BPI กับ PIAI (PIAI จะอธิบายในข้อถัดไป) BPI คือ Bina Peribadi Islami หมายถึง การสร้างตัวตนมุสลิมคุณภาพ ซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่ระบุไว้ในโครงสร้าง จำนวน 2 คาบต่อสัปดาห์ คือ กิจกรรมกลุ่มศึกษาอิสลาม นั่นเอง หรือ ในตอนแรกคิดว่าจะรวมไว้ในวิชาอิสลามศึกษา แต่เมื่อไปดูในรายละเอียด การทำกลุ่มศึกษาไม่ใช่การเรียนอิสลามแบบตัวบท 100% เหมือนวิชา Kelompok A ข้อ 1 แต่เป็นการเรียนรู้อิสลามแบบ STEM ที่บูรณาการศาสตร์การสร้างตัวตน การใช้ชีวิต การปนะยุกต์ใช้ในสังคมบนฐานอิสลามที่คำนึงถึงบริบทของพื้นที่ที่ นร. ต้องใช้ชีวิตปัจจุบันและอนาคต กิจกรรม BPI จึงเป็นสหศาสตร์อย่างแท้จริงที่รวมเอาปรัชญาอิสลาม หลักการ สังคมศาสตร์ การเมือง วิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อม พหุวัฒนธรรม และระเบียบวินัย ความเป็นพี่น้อง รวมถึงอื่นๆ ที่มุ่งสร้างนักเรียนที่สามารถใช้ชีวิตด้วยหลักการอิสลามอย่างเข้าใจสถานการณ์และสภาพบริบทที่สามารถเปลี่ยนแปลงปรับตัวไปได้อย่างต่อเนื่อง
4. PIAI = Pembiasan Ibadah Dan Adab Islami ผมค่อนข้างประทับใจอย่างมากกับกิจกรรมนี้ไม่รู้จะตั้งชื่อภาษาไทยว่าอย่างไรดี เพราะไม่เคยพบเห็นในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทย ผมขอตั้งชื่อว่า "กิจกรรมอิสระซุนนะฮและศาสนกิจในชีวิตประจำวัน" แม้ไม่ได้กำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตรแต่มีอยู่ในตารางเรียนของทุกวัน ประมาณวันละ 30 นาที PIAI คือการทำตามซุนนะฮหรือการทำตามแบบอย่างท่านศาสนทูต เช่น อ่านกุรอาน ซิกรุลลอฮ (กล่าวคำรำลึกถึงอัลลอฮ) ขอพรหรือดุอา การช่วยผู้อื่น กิจกรรมจิตอาสา เป็นต้น โดยแต่ละวันนักเรียนแต่ละคนหรือกลุ่มนักเรียนจะทำกิจกรรม PIAI ต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและกิจวัตรที่นักเรียนจะปฏิบัติในแต่ละวัน ผมลองไปสังเกตช่วงเวลา PIAI ว่านักเรียนทำอะไรกันบ้าง ส่วนใหญ่จะละหมาดดุฮา อ่านกุรอ่าน ทำความสะอาดมัสยิดและพื้นที่ห้องเรียน ติวเพื่อนทำการบ้าน และออกกำลังกาย กิจกรรมนี้พยายามสร้างผู้เรียนที่ทำอามัลหรือการปฎิบัติซุนนะฮที่เป็นกิจวัตรเป็นนิสัยและทำให้เป็นปรกติในฐานะตัวตนมุสลิมที่ดี
5. กิจกรรม kelompok C ข้อที่ 4 เป็นกิจกรรมสำหรับพี่ ม. 3 เท่านั้นที่จะต้องเตรียมสอบระดับชาติ เช่นเดียวกับพี่ ม.6 ซึ่งโรงเรียนกำหนดไว้ในโครงสร้างหลักสูตร คือกิจกรรมทบทวนเนื้อหา ติวเข้ม ฝึกทำข้อสอบ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สนามสอบ
6. ในหนึ่งสัปดาห์นักเรียนจะเรียน 5 วัน จันทร์-ศุกร์ วันละประมาณ 5 วิชาเท่านั้น ไม่ได้มากเหมือน รร. เอกชนสอนศาสนาบ้านเราที่เรียนวันละเกือบ 10 วิชา และเรียน 6 วัน สำหรับหลายโรงเรียน จะเห็นได้ว่าโรงเรียนบูรณาการอิสลามจะไม่เน้นเนื้อหาที่เป็นวิชาเรียนให้มาก แต่จะบูรณาการอิสลามในรายวิชาที่มีอยู่แล้วกับวิถีปฎิบัติในชีวิตประจำวัน ในขณะที่บ้านเรายังคงเรียนเป็นเนื้อหาแต่ให้นักเรียนปฏิบัติน้อย ส่วนตัวประทับใจที่โรงเรียนตอบว่า "ซุนนะฮหรืออิบาดะไม่จำเป็นต้องให้เป็นวิชาเรียนให้นักเรียนมาท่องจำและทำข้อสอบ แต่ให้นักเรียนปฏิบัติเลย และวัดผลจากการปฎิบัติ และครูเองก็สอนนักเรียนด้วยกับการทำตัวเป็นแบบอย่างในซุนนะฮหรือความดีที่เป็นวิถีชีวิตเหล่านั้น"